พัฒนาการของ Internet
ปี พ.ศ. 2500 (1957) โซเวียดได้ปล่อยดาวเทียม Sputnik ทำให้สหรัฐอเมริกาได้ตระหนักถึงปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น ดังนั้น ค..ศ. 2512 (1969) กองทัพสหรัฐต้องเผชิญหน้ากับความเสี่ยงทางการทหาร และความเป็นไปได้ในการถูกโจมตี ด้วยอาวุธปรมาณู หรือนิวเคลียร์ การถูกทำลายล้าง ศูนย์คอมพิวเตอร์ และระบบการสื่อสารข้อมูล อาจทำให้เกิดปัญหาทางการรบ และในยุคนี้ ระบบคอมพิวเตอร์ ที่มีหลากหลายมากมายหลายแบบ ทำให้ไม่สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูล ข่าวสาร และโปรแกรมกันได้ จึงมีแนวความคิด ในการวิจัยระบบที่สามารถ เชื่อมโยงเครื่องคอมพิวเตอร์ และแลกเปลี่ยนข้อมูล ระหว่างระบบที่แตกต่างกันได้ ตลอดจนสามารถรับส่งข้อมูลระหว่างกัน ได้อย่างไม่ผิดพลาด แม้ว่าคอมพิวเตอร์บางเครื่อง หรือสายรับส่งสัญญาณ เสียดายหรือถูกทำลาย กระทรวงกลาโหมอเมริกัน ( DoD = Department of Defense) ได้ให้ทุนที่มีชื่อว่า DARPA (Defense Advanced Research Project Agency) ภายใต้การควบคุมของ Dr. J.C.R. Licklider ได้ทำการทดลอง ระบบเครือข่ายที่มีชื่อว่า DARPA Network และต่อมาได้กลายสภาพเป็น ARPANet (Advanced Research Projects Agency Network) และต่อได้มาพัฒนาเป็น INTERNET ในที่สุด
การเริ่มต้นของเครือข่ายนี้ เริ่มในเดือน ธันวาคม 2512 (1969) จำนวน 4 มหาวิทยาลัย ได้แก่
- มหาวิทยาลัยยูทาห์
- มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียที่ซานตาบาบารา
- มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียที่ลอสแองเจลิส
- สถาบันวิจัยของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด
งานหลักของเครือข่ายนี้ คือ การค้นคว้าและวิจัยทางทหาร ซึ่งอาศัยมาตรฐานการรับส่งข้อมูลเดียวกัน ที่เรียกว่า Network Control Protocol (NCP) ทำหน้าที่ควบคุมการรับส่งข้อมูล การตรวจสอบความผิดพลาดในการส่งข้อมูล และตัวกลางที่เชื่อมต่อคอมพิวเตอร์ทุกเครื่องเข้าด้วยกัน และมาตรฐานนี้ก็มีจุดอ่อนในการขยายระบบ จนต้องมีการพัฒนามาตรฐานใหม่
พ.ศ. 2525 ได้มีมาตรฐานใหม่ออกมา คือ Transmission Control Protocol/Internet Protocol (TCP/IP) อันเป็นก้าวสำคัญของอินเทอร์เน็ต เนื่องจากมาตรฐานนี้ทำให้คอมพิวเตอร์ต่างชนิดกัน สามารถรับส่งข้อมูลไปมาระหว่างกันได้ เปรียบเสมือนเป็นหัวใจของอินเทอร์เน็ตเลยก็ว่าได้
พ.ศ. 2529 มูลนิธิวิทยาลัยศาสตร์แห่งชาติ สหรัฐอเมริกา (National Science Foundation - NSF) ได้วางระบบเครือข่ายขึ้นมาอีกระบบหนึ่ง เรียกว่า NSFNet ซึ่งประกอบด้วยซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ 5 เครื่องใน 5 รัฐ เชื่อมต่อเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา และค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์ และมีการใช้มาตรฐาน TCP/IP เป็นมาตรฐานหลักในการรับส่งข้อมูล ส่งผลให้การใช้งานเครือข่ายเป็นไปอย่างรวดเร็ว
หลังจากนั้นก็มีเครือข่ายอื่นๆ เกิดขึ้นมาเช่น UUNET, UUCP, BitNet, CSNet เป็นต้น และต่อมาได้เชื่อมต่อกัน โดยมี NSFNet เป็นเครือข่ายหลัก ซึ่งเปรียบเสมือนกระดูกสันหลังของเครือข่าย (Backbone)
ในปี พ.ศ. 2530 เครือข่าย ARPANET ได้รวมกับ NSFNET และลดบทบาทตัวเองลงมา เปลี่ยนไปใช้บทบาทของ NSFNet แทน และเลิกระบบ ARPANET ในปีพ.ศ. 2534
ในปัจจุบัน Internet เป็นการต่อโยงทางตรรกะ (Logic) ของระบบคอมพิวเตอร์นับล้าน ๆ เครื่อง และโยงกับระบบ Wide Area Network (WAN) ต่างๆ เช่น MILNET, NSFNET, CSNET, BITNET หรือแม้แต่ เครือข่ายทางธุรกิจ เช่น IBMNET, Compuserve Net และอื่น ๆ ภายใต้โปรโตคอล ที่มีชื่อว่า TCP/IP โดยที่ขนาดของเครือข่าย ครอบคลุมไปทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย และมีการขยายขอบเขตออกไป อย่างไม่หยุดยั้ง .
ระบบ Internet เป็นการนำเครือข่ายขนาดใหญ่ที่สุดของโลก ที่มีการต่อเสมือนกับ ใยแมงมุม หรือ World Wide Web หรือเรียกย่อๆ ว่า WWW ( มีการบัญญัติศัพท์ว่า เครือข่ายใยพิภพ) ในระบบนี้เราสามารถเปรียบเทียบ Internet ได้ สองลักษณะคือ ลักษณะทางกายภาพ และทางตรรกะ ในทางกายภาพ (Physical) นั้น Internet เป็นเครือข่ายที่รับอิทธิพลจาก เครือข่ายโทรศัพท์โดยตรง ในสหรัฐอเมริกา บริษัทที่เป็นผู้ให้บริการ Internet ก็เป็นบริษัทที่ทำธุรกิจ ทางโทรศัพท์ เช่น MCI, AT&T, BELL เป็นต้น และอีกลักษณะหนึ่ง ที่เป็นความเด่นของระบบ คือลักษณะทางตรรกะ หรือ LOGICAL CONNECTION ที่เป็นเสมือนใยแมงมุม ครอบคลุมโลกไว้
ความก้าวหน้าของอินเทอร์เน็ตในประเทศไทย
ทวีศักดิ์ กออนันตกูล
พ.ศ. 2530 ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติได้ริเริ่มโครงการเครือข่ายคอมพิวเตอร์ระหว่างมหาวิทยาลัยขึ้น เพื่อเชื่อมโยงศูนย์คอมพิวเตอร์ของหลายมหาวิทยาลัยเข้าด้วยกันด้วยระบบสื่อสารแบบ X.25 และให้ทุนอุดหนุนการจัดทำข้อมูลบัตรรายการห้องสมุดแก่สถาบันต่างๆจำนวนมาก [1] นับว่าเป็นการสร้างเครือข่ายคอมพิวเตอร์เพื่อเชื่อมโยงภายในประเทศ แต่ไม่มีการเชื่อมต่อกัยอินเทอร์เน็ต
ในปีเดียวกันมีการใช้จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทย เป็นครั้งแรก โดยได้รับความช่วยเหลือจากประเทศออสเตรเลีย และเริ่มใช้งานที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (เดือนมิถุนายน) และสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเซีย ทั้งนี้เชื่อมต่อเป็นการใช้โมเด็มต่อผ่านสายโทรศัพท์ ต่อมามีคณาจารย์จากสถาบันอื่นๆเข้าร่วมอีกหลายท่าน เช่น จากธรรมศาสตร์ เกษตรศาสตร์ รามคำแหง นิด้า และอัสสัมชัญ ในการทำงาน ทางมหาวิทยาลัยเมลเบิร์นเป็นผู้โทรเข้ามาที่เครื่องคอมพิวเตอร์ในประเทศไทยวันละสองครั้งเพื่อแลก “ถุงไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์” และเขาเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายช่วยเรา
พ.ศ. 2534 อินเทอร์เน็ตทั่วโลกมีเครือข่ายต่างๆเชื่อมกันประมาณ 5,000 เครือข่าย ซึ่งประกอบด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์เชื่อมต่อกันประมาณ 700,000 เครื่อง และมีผู้ใช้งานประมาณ 4,000,000 คน ในกว่า 36 ประเทศ
พ.ศ. 2535 ได้มีการจัดตั้งเครือข่ายไทยสารขึ้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ โดยเนคเทค ร่วมกับหน่วยงานอื่นๆเช่นมหาวิทยาลัยและบริษัทเอกชน โดยมีวัตถุประสงค์แรกคือการทำให้นักวิชาการไทยทั้งจากภาครัฐและเอกชนสามารถแลกเปลี่ยนจดหมายอิเล็กทรอนิกส์กันได้ทั่วโลก ทั้งนี้มีคณะทำงานจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (NECTEC Email Working Group หรือ NEWgroup) เป็นผู้ช่วยกันพัฒนา และมีผู้ใช้แรกเริ่มเพียง 28 ท่าน จาก 20 หน่วยงาน โดยใช้คอมพิวเตอร์ 8 เครื่อง เชื่อมต่อกันผ่านสายโทรศัพท์ โดยใช้ซอฟต์แวร์ UUCP และ MHSNet โดยในเดือนเมษายน ประเทศไทยมีรหัสอักขระมาตรฐานประกาศในร่างมาตรฐาน ISO-10646 และในเดือนกรกฎาคมประเทศไทยได้เชื่อมต่อกับเครือข่ายอินเทอร์เน็ตอย่างเต็มเวลา (ผ่านวงจรเช่าต่างประเทศ ระหว่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและบริษัท UUNET) ด้วยความเร็ว 9,600 บิต/วินาที และในเดือนธันวาคม มีสถาบันไทยรวม 6 แห่ง ที่เชื่อมโยงกันด้วยวงจรเช่าแบบถาวรเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้คลอด 24 ชั่วโมง ทุกวัน ได้แก่ เนคเทค จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเซีย)
พ.ศ. 2536 เนคเทคเปิดใช้วงจรต่างประเทศความเร็วปานกลาง (64kbps) ขึ้นเป็นวงจรแรก เพื่อทำให้ผู้ใช้ทั้งหมดในประเทศไทยได้รับและส่งข้อมูลได้โดยสะดวกยิ่งขี้น และในเดือนสิงหาคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก็ได้ปรับปรุงวงจร 9,600 bps เป็น 64kbps ด้วย ในเดือนสิงหาคม ได้มีการเริ่มนำระบบ Linux Operating System เข้ามาใช้งานเป็นครั้งแรกในประเทศไทย และเดือนตุลาคม ได้เปิดบริการ WWW เป็นครั้งแรกในประเทศไทยเช่นเดียวกัน คือ www.nectec.or.th ซึ่งทำหน้าที่แนะนำประเทศไทยให้กับทั่วโลกเป็นภาษาอังกกฤษ ภายใต้ชื่อ Thailand the Big Picture และเปิดบริการอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลากว่า 7 ปีจนถึงปัจจุบัน ในปีนั้น เครือข่ายไทยสารมีหน่วยงานเชื่อมต่ออย่างถาวรรวม 19 หน่วยงาน
พ.ศ. 2537 เป็นปีที่ประเทศไทยนำเครื่องคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูงสองเครื่อง ต่อเข้ากับเครือข่ายไทยสาร-อินเทอร์เน็ต เครื่องแรก คือ MasPar ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (เดือนกุมภาพันธ์) และเครื่องที่สอง คือ Cray Supercomputer รุ่น EL98 (เดือนพฤษภาคม) และในเดือนกรกฎาคม ได้มีการสาธิตการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตความเร็วสูง 2 ล้านบิตต่อวินาที ระหว่างเนคเทค กับงานวันสื่อสารแห่งชาติ ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ในเดือนกรกฎาคม เพื่อสาธิตระบบมัลติมีเดียและการประชุมทางไกลผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต (IP Video Conference) ในปีนี้ เครือข่ายไทยสารได้เชื่อมโยงสถาบันอุดมศึกษาได้ 34 แห่ง ใน 27 สถาบัน
พ.ศ. 2538 เป็นปีแห่งเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งเปิดศักราชด้วยการที่การสื่อสารแห่งประเทศไทยอนุญาตให้เปิดบริการอินเทอร์เน็ตเชิงพาณิชย์ โดยคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้ก่อตั้งบริษัทอินเทอร์เน็ตประเทศไทย จำกัด (การร่วมทุนระหว่างเนคเทค/สวทช. กับ กสท. และ ทศท.) เป็นผู้ให้บริการรายแรก ซึ่งได้มีการเริ่มบริการอย่างเป็นทางการในวันที่ 1 มีนาคม 2538 และตั้งแต่เดือนมิถุนายนก็เริ่มมีผู้ให้บริการอื่นเริ่มได้รับอนุญาตให้บริการอินเทอร์เน็ตที่ถูกกฎหมาย ในเดือนมีนาคมปีนี้ ก็เป็นการเริ่มโครงการเครือข่ายคอมพิวเตอร์เพื่อโรงเรียนไทย หรือ SchoolNet โดยมีโรงเรียนเข้าร่วมโครงการรุ่นแรก 30 โรงเรียน
การใช้อินเทอร์เน็ตหลังจากปี พ.ศ. 2538 เป็นต้นมา เริ่มเป็นที่แพร่หลายและเป็นข่าวออกสู่หน้าหนังสือพิมพ์เป็นประจำ และค่อนข้างจะหาเอกสารอ้างอิงต่างๆได้ง่าย อย่างไรก็ดี ก็มีเหตุการณ์ต่างๆที่ควรแก่การบันทึกดังนี้
มีนาคม 2538 องค์กรเอกชนที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตอย่างถาวรด้วยความเร็ว 64kbps รายแรก คือ ธนาคารไทยพาณิชย์
มิถุนายน 2538 มีการขยายวงจรต่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดในขณะนั้น คือ 512kbps โดยศูนย์บริการอินเทอร์เน็ตประเทศไทย และในเดือนเดียวกัน ได้มีการรายงานผลการเลือกตั้งทางอินเทอร์เน็ต โดย นสพ.บางกอกโพสต์ร่วมกับเนคเทค
กันยายน 2538 ประเทศไทยเปิดใช้วงจรอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงระหว่างประเทศ 2 ล้านบิตต่อวินาทีเป็นวงจรแรกของ วงจรนี้เชื่อมเนคเทคกับNACSIS (National Center for Science Information Systems) ในประเทศญี่ปุ่น เป็นความร่วมมือเพื่อการศึกษาวิจัย โดยสถาบันเป็นสมาชิกเครือข่ายไทยสารทุกแห่งสามารถเข้าถึงสถาบันต่างๆในญี่ปุ่นได้จากวงจรนี้ได้
กุมภาพันธ์ 2539 ประเทศไทยเริ่มเปิดใช้วงจรความเร็วสูงเพื่ออินเทอร์เน็ตเชิงพาณิชย์เป็นครั้งแรก โดยศูนย์บริการอินเทอร์เน็ตประเทศไทยเป็นผู้ลงทุนเชื่อมระหว่างประเทศไทยกับสหรัฐอเมริกาโดยผ่านเคเบิลใยแก้วนำแสง ทั้งนี้เป็นการลงทุนเพื่อทำให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอด เอเซีย-ยุโรป พร้อมกับบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงให้แก่ผู้สื่อข่าวจากทั่วโลก และบุคคลสำคัญได้อย่างเต็มภาคภูมิ
วันที่ 5 ธันวาคม 2539 เวลา 9.09 น. ได้มีการเปิดบริการข้อมูลเครือข่ายกาญจนาภิเษก ตามพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ http://kanchanapisek.or.th เพื่อเป็นการนำเสนอข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และผลงานของหน่วยงานต่างๆกว่าสิบหน่วยงาน ที่ทำงานสนองพระราชดำริ รวมถึงกิจกรรมด้านเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาประเทศ พัฒนาสังคมต่างๆ และในโอกาสต่อมา ในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2540 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเปิดเครือข่ายกระจายความรู้แก่ประชาชน ให้บุคคลทั่วไป เข้าถึงข้อมูลเครื่อข่ายกาญจนาภิเษกได้ผ่านเลขหมายออนไลน์ 1509 ได้จากทุกแห่งในประเทศไทยโดยไมต้องเสียค่าสมาชิกและค่าโทรศัพท์ทางไกล เครือข่ายนี้ ต่อมาได้รับพระราชานุญาตให้นำมาใช้เป็น access network สำหรับโรงเรียนทั่วประเทศในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย โดยทรงเปิดเครือข่ายใหม่ ที่เชื่อมเครือข่ายกระจายความรู้ฯ กับเครือข่ายคอมพิวเตอร์เพื่อโรงเรียนไทยเข้าด้วยกัน เรียกว่า SchoolNet@1509 เมื่อวันที่ 30 มีนาคม พ.ศ.2541 ทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่จัดระบบอินเทอร์เน็ตฟรีให้แก่โรงเรียนทั่วประเทศ เพื่อลดความด้อยโอกาสของโรงเรียนที่อยู่ในชนบท ก่อนที่จะมีการกล่าวถึงคำว่า “digital divide” ในเวทีนานาชาติ
พ.ศ. 2542 แม้ว่าเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว และในวงการคอมพิวเตอร์ต่างก็ต้องกังวลเรื่องการแก้ปัญหา Y2K แต่จัดได้ว่าเป็นปีแห่งการเพิ่มความเร็วของวงจรอินเทอร์เน็ตต่างประเทศ ในเดือนมกราคม มีวงจรต่างประเทศระดับ 8 ล้านบิตต่อวินาทีถึงสองวงจร คือของอินเทอร์เน็ตประเทศไทย และของการสื่อสารแห่งประเทศไทย ทั้งสองวงจรเป็นวงจรใยแก้วคุณภาพสูง ในเดือนเมษายน มีเพิ่มอีกหนึ่งวงจร คือของ KSC (เป็นวงจรดาวเทียม 8 Mbps) และในเดือนตุลาคม KSC เป็นรายแรกที่เปิดใช้วงจรต่างประเทศขนาด 34 Mbps (เป็นวงจรดาวเทียม แบบ Simplex คือ ส่งข้อมูลเข้าประเทศไทยทิศทางเดียว) เมื่อถึงสิ้นปี ประเทศไทยมีวงจรต่างประเทศรวมทั้งสิ้น 118.25 Mbps
พ.ศ. 2543 ซึ่งเริ่มเป็นปีที่เงินบาทเริ่มคงตัว และหนี้ที่ไม่ก่อรายได้ (NPL) เริ่มลดลง การเพิ่มความเร็วของอินเทอร์เน็ตทั้งในประเทศและระหว่างประเทศได้เพิ่มความเข้มข้นยิ่งขึ้น ดังจะเห็นได้จากสถิติเปรียบเทียบดังนี้
Growth of Internet International Bandwidth of Thailand in January of each year [8]
| ||||
(January)
|
1998
|
1999
|
2000
|
2001
|
Mbps
|
32.75
|
49.5
|
153.25
|
316.365
|
Growth on
|
51.15%
|
209.60%
|
106.44%
| |
previous year
|
จะเห็นได้ชัดว่า ในต้นปี 2543 ความเร็วของการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้เพิ่มขึ้นถึง 209% (คือเพิ่มเป็นสามเท่า) จากเดือนเดียวกันในปี 2542 ส่วนในเดือนมกราคม 2544 เป็นการเพิ่มเป็นสองเท่าจากในปี 2542 สำหรับอัตราการเพิ่มของการไหลเวียนข้อมูลในประเทศ ก็มีการเพิ่มขึ้นด้วยอัตราที่สูงกว่าปีละ 160% ทั้งสามปีติดต่อกันดังตารางข้างล่าง
Growth of Domestic Data Exchange Volume of Thailand [9]
| ||||
(January)
|
1998
|
1999
|
2000
|
2001
|
Mbps at PIE/IIR
|
2.300
|
6.100
|
17.600
|
47.400
|
Growth on
|
165.22%
|
188.52%
|
169.32%
| |
previous year
|
รายงานฉบับนี้ ได้รับการปรับปรุงครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 6 มกราคม พ.ศ.2544
(จะมีการปรับปรุงอยู่เสมอ)
แหล่งอ้างอิง
พัฒนาการของอินเทอร์เน็ตhttp://www.med.cmu.ac.th/eiu/informatics/Literacy/computer/internet/17.htm
ความก้าวหน้าของอินเทอร์เน็ตในประเทศไทย
http://www.nectec.or.th/users/htk/milestones-th.html
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น